default
การดูแลตนเอง
- ยอมรับอารมณ์ความรู้สึกของตนเองว่าโศกเศร้า เสียใจ
- อนุญาตให้ตัวเองร้องไห้ได้ ร้องไห้ไม่ได้แปลว่าอ่อนแอแต่เป็นวิธีการหนึ่งเพื่อระบายอารมณ์ความรู้สึกเศร้า และความอาลัยรักถึงผู้ที่จากไป
- ในช่วงเวลาที่มีความรู้สึกโศกเศร้าอย่างท่วมท้นปล่อยให้ความรู้สึกระบายออกมา อารมณ์มีความเป็นธรรมชาติเหมือนทุกสรรพสิ่ง..ที่ผ่านมาแล้วก็จะผ่านไป..ขอเพียงให้อดทนอยู่กับความรู้สึกทรมานใจนั้นไว้ก่อน แล้วเมื่อเวลาผ่านไป.. ความรู้สึกจะค่อยๆเบาบางลงไปเอง
- หลังจากผ่าน ความโศกเศร้าที่ท่วมท้นแล้วให้รีบพยายามรักษากิจวัตรประจำวันให้เหมือนเดิม ดำเนินชีวิต ทานอาหาร นอนหลับพักผ่อนและทำงานไปตามปกติ…แม้จะรู้สึกฝืนใจแต่ก็ขอเพียงทำต่อไป…การหยุดนิ่งไม่ทำอะไรและคิดวนเวียนไปเรื่อยๆจะยิ่งทำให้โศกเศร้ามากขึ้น
- การอยู่ร่วม พูดคุย แบ่งปัน แลกเปลี่ยนความรู้สึกกับผู้คนที่อยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกัน จะช่วยให้ความทุกข์ บรรเทาเบาบางลงได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเสพข่าว หรือสื่อที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์สูญเสียนั้น มากเกินไปเพราะจะกระตุ้นอารมณ์เศร้าได้ง่าย
- พยายามอย่าอยู่คนเดียว ควรหากิจกรรมที่สร้างสรรค์ หรือมีประโยชน์ทำเพื่อเบนความสนใจจากความทุกข์ระทม และยังช่วยเพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง เช่น กิจกรรมจิตอาสา ช่วยเหลือผู้อื่น
- แบ่งเวลาทำกิจกรรมเพื่อดูแลร่างกายและจิตใจตนเองให้ผ่อนคลาย เช่น การสวดมนต์ทำสมาธิ ประกอบกิจกรรมตามศาสนาที่ตนยึดถือ (เช่น ทำบุญ ฟังธรรม ให้ทาน) ฝึกโยคะ แช่น้ำอุ่น ฟังดนตรีบรรเลงเบาๆ เป็นต้น
- เป็นธรรมดาของช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าที่ เหมือนกับว่าจะทำใจได้เป็นพักๆ แต่ก็จะวนเวียนกลับมาเศร้าอีกเป็นระลอก และเมื่อความเศร้าระลอกใหม่เข้ามา ให้จัดการด้วยวิธีต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น..วนไป แล้วในที่สุด ความถี่และความรุนแรงของระลอกแห่งความเศร้า จะค่อยห่างและจางไปเอง
- สิ่งของ ภาพหรือสัญลักษณ์ของผู้ที่จากไปซึ่งมีคุณค่าทางจิตใจ หากไม่รู้จะเก็บหรือจัดวางใหม่อย่างไร ก็ยังไม่ต้องทำอะไร วางทุกอย่างไว้ที่เดิมจนกว่าจะรู้สึกว่าทำใจได้มากขึ้นจึงค่อยจัดการกับสิ่งของวัตถุต่างๆดังกล่าวในเวลาต่อมา
- หากมีอาการซึมเศร้าอย่างหนักจนถึงขั้นท้อแท้ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์ เพราะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าอาการมีความรุนแรงถึงขั้นป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
- ให้ความหมายใหม่กับสถานการณ์สูญเสียนั้น-แท้จริงแล้วความสูญเสียคือการแปรสภาพจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง เปรียบเสมือนกับการที่หนอนดักแด้กลายร่างเป็นผีเสื้อ บุคคลที่เรารักไม่ได้จากไปไหนเพียงแต่แปรเปลี่ยนสภาพไป แม้ไม่อาจเห็นชีวิตและร่างกายของบุคคลอันเป็นที่รักแล้วแต่เรายังสามารถสัมผัส และรู้สึกถึง ความรัก ความผูกพัน ความเคารพบูชาที่มีต่อบุคคลผู้จากไปได้เพราะความสัมพันธ์นั้นจะยังคงอยู่ในใจของเราเสมอ
- หากมีสิ่งที่ยังติดค้างและไม่มีโอกาสได้บอกกล่าวหรือแสดงออกในขณะที่ผู้จากไปยังมีชีวิตอยู่ อาจใช้วิธีการเขียนจดหมาย หรือกล่าวถ้อยคำเพื่อแสดงความรู้สึกและบอกถึงสิ่งที่ยังติดค้างต่อวัตถุ/สัญลักษณ์ ที่เป็นตัวแทนของผู้จากไป เสมือนหนึ่งว่าผู้ที่จากไปนั้นกำลังอ่านหรือฟังสิ่งที่เรากำลังบอกกล่าวอยู่
- หากซึมเศร้า เสียใจมากจนไม่เป็นอันทำอะไรให้ลองนึกถึงมุมมองของผู้จากไปว่าหากกำลังเฝ้ามองดูเราอยู่ ผู้จากไปจะอยากเห็นเราเป็นอยู่อย่างไร เพื่อผู้จากไปจะได้สบายใจและไม่ห่วงกังวล
การอยู่ร่วมและการดูแลผู้ที่มีอาการโศกเศร้าจากการสูญเสีย
- เคารพ และยอมรับอารมณ์ ความรู้สึกตลอดจนการแสดงออกของผู้ที่โศกเศร้า..แต่ละคนมีวิธีแสดงออกถึงความเศร้าแตกต่างกัน…ดังนั้นไม่ควรตัดสินการแสดงออกของผู้อื่นตามความเชื่อค่านิยมและมุมมองของตนเอง
- คำแนะนำและคำปลอบโยนที่ไม่ได้ผลเช่น “อย่าคิดมาก” /”ไม่เอาน่า..อย่าร้องไห้..อย่าอ่อนแอ” /”ไม่เห็นเป็นไรเลย” /”เรื่องเล็กน้อย..มันเป็นธรรมชาติ..อย่าไปอะไรมากเลย” / “สู้สู้นะ” /”ต้องเข้มแข็งไว้นะ” / “ดูคนอื่นสิไม่เห็นเค้าจะเป็นขนาดนี้เลย” …คำกล่าวเหล่านี้ไม่ได้ช่วยทำให้อารมณ์เศร้าเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริงและอาจยังทำให้ผู้ที่กำลังเศร้า รู้สึกว่าความรู้สึกของตัวเองไม่ได้รับการยอมรับหรือไม่มีความสำคัญ ผู้โศกเศร้าอาจยิ่งเสียกำลังใจและทำให้เสียความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้พูดกับผู้ที่โศกเศร้าอีกด้วยเพราะสะท้อนให้เห็นว่าผู้พูดไม่ได้เข้าใจความรู้สึกของผู้ที่กำลังโศกเศร้
- อยู่เป็นเพื่อน รับฟังด้วยความเข้าใจและเห็นใจ …หลายครั้งที่การนิ่งเงียบ การสัมผัส การจับมือ การกอด การโอบไหล่ เป็นภาษากายที่แสดงออกถึงความเข้าใจได้ดีกว่าการพูดมากมายหลายเท่านัก
- ช่วยดูแลประคับประคองทางด้านร่างกาย เช่น เรื่องอาหารการกิน การพักผ่อน หายา สามัญประจำบ้านที่ใช้รักษาอาการไม่สบายเล็กๆ น้อยๆมาให้ทานถ้าจำเป็น
- คอยกระตุ้นให้ผู้ที่โศกเศร้าพยายามใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ รวมถึงชวนให้มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ทำร่วมกันเพื่อให้ละ วาง จากอาการโศกเศร้าได้บ้าง อย่าทิ้งให้ผู้ที่โศกเศร้าอยู่ลำพังเป็นเวลานานๆ
- เฝ้าสังเกตอาการ ความรุนแรงของอาการเศร้ารวมถึงรีบให้ความช่วยเหลือพาไปพบจิตแพทย์หากมีความเสี่ยง ของการพยายามฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเอง
Leave a reply
Leave a reply