เหตุการณ์ล่าสุด กรณีกราดยิงที่โคราช ก่อให้เกิดบรรยากาศ ชวนโศกเศร้าสลดหดหู่ และ สร้างความรู้สึกหวาดกลัว ตื่นตระหนก ของผู้คนในสังคมเป็นวงกว้าง ประกอบกับหลายเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงเดือนเศษๆที่ผ่านมา.. ทั้งเรื่อง ไฟป่าที่ออสเตรเลีย ฝุ่นควัน PM 2.5 ไวรัสโคโรนาระบาด ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศและในประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจ.. ทำให้หลายคนจิตตก เกิดภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล ส่งผลต่อมุมมองความคิดทัศนคติต่อโลกไปในเชิงลบ จนอาจถึงขั้นป่วยเป็นโรคทางจิตเวชได้
แล้วเราควรจะรับมือกับมรสุมเหตุการณ์เลวร้ายเหล่านี้อย่างไร??
- ฝึกมองให้เห็นและตระหนักรู้สภาวะ ความเป็นไปตามธรรมชาติว่าเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้น จะรุนแรงเลวร้ายแค่ไหน ทุกอย่างผ่านมาแล้วจะผ่านไปในที่สุด
- ฝึกการรับรู้ เข้าใจ รู้เท่าทัน และยอมรับอารมณ์ตัวเอง โกรธก็รู้ว่าโกรธ เศร้าก็รู้ว่าเศร้า กลัวก็รู้ว่ากลัว โดยไม่ต้องตัดสินอารมณ์ความรู้สึกนั้น ว่าถูกผิดดีเลวอย่างไร
- ฝึกการเชื่อมโยง อารมณ์ ความคิด พฤติกรรมและร่างกายของตนเองอยู่เสมอ ทุกอารมณ์มีความคิดและความหมายซ่อนอยู่.. ฝึกค้นหาโดยซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตนเอง ดูว่าอารมณ์นั้นมีที่มาจากความคิดใด เมื่อเชื่อมโยงอารมณ์กับความคิดได้ลองสังเกตต่อว่าภายในร่างกายมีการตอบสนองอย่างไร (เช่นปวดเวียนหัว เกร็งกล้ามเนื้อ เหนื่อยง่ายหายใจไม่อิ่ม) รวมถึงมีพฤติกรรมและการแสดงออก อย่างไร การเชื่อมโยงองค์ประกอบของตนเองได้เช่นนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการ ปรับความคิดเปลี่ยนพฤติกรรมนำไปสู่อารมณ์ ทุกข์น้อยลงและมีความสุขได้ง่ายขึ้น
- ฝึกเพิ่มความคิดและมุมมองที่หลากหลาย.. ฝึกมองให้เห็นภาพรวม.. หาหลักฐานเหตุผลของความเชื่อแต่ละอัน ไม่ด่วนสรุป.. ไม่มองเพียงด้านลบหรือด้านที่เลวร้าย ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มองให้เห็นแต่โลกสวย.. แต่มองให้เห็นครบทุกแง่มุมตามความเป็นจริง..ยกตัวอย่าง กรณีเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช
- เราโกรธมนุษย์ที่กระทำพฤติกรรมที่โหดร้าย ฆ่าคนบริสุทธิ์.. แต่เราก็ซาบซึ้งมนุษย์ที่สละชีวิตตัวเองเพื่อปกป้องชีวิตผู้อื่น
- เราโมโหหงุดหงิดสื่อที่รายงานข่าวอย่างไร้จรรยาบรรณขาดความละเอียดอ่อน ต่อความรู้สึกของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน.. แต่เราก็ชื่นชมสื่อที่ทำหน้าที่ได้อย่างดีเป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ เพื่อกระทำภารกิจได้สำเร็จ
- เราโกรธคนร้ายที่เป็นทหารใช้อาวุธสงครามฆ่าประชาชน แต่เราก็ยกย่องและขอบคุณทหารที่ปกป้องและช่วยเหลือประชาชนเช่นกัน
- ท่ามกลางบรรยากาศของกลุ่มคนที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว.. เรายังเห็นกลุ่มคนที่เต็มไปด้วยความกล้าหาญ
- พยายามรักษากิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติ รักษาสุขภาพกายไว้ให้ดี กิน นอน ให้เป็นเวลาและเพียงพอ ทำหน้าที่ของตนเองทุกบทบาทให้เต็มที่เท่าที่สามารถทำได้ พยายามจดจ่อกับงานหรือกิจกรรมตรงหน้า (อยู่กับปัจจุบัน) แม้จิตใจจะรู้สึกหดหู่ห่อเหี่ยวก็ตาม.. เราบังคับควบคุม อารมณ์ ความรู้สึกไม่ได้แต่เราสามารถควบคุมการกระทำหรือพฤติกรรมของตนเองได้
- ทำกิจกรรมเพิ่มสุข เพิ่มการผ่อนคลาย เช่นหากิจกรรมงานอดิเรกที่ชอบ ออกกำลังกาย อยู่กับกลุ่มเพื่อนหรือสังคม ที่ส่งเสริมให้กำลังใจกันและใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ ฝึกการผ่อนคลายยืดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะส่วนที่เกร็งหรือตึงตัวง่าย (เช่น คอ บ่า ไหล่ หลัง) ฝึกการหายใจที่ถูกต้อง (หายใจเข้าลึกออกยาว เข้าท้องป่องออกท้องแฟบ)
- งดหรือเลี่ยงกิจกรรมที่กระตุ้นความเครียด เช่น การเสพข่าว สื่อที่มากเกินไป, การพูดคิดหมกมุ่นวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในบรรยากาศหรือเนื้อหาเครียดๆซ้ำไปซ้ำมา, การใช้สารกระตุ้น สารเสพติดเป็นต้น
- หมั่นสังเกตอาการหรือพฤติกรรมของตนเองและคนรอบข้างใกล้ชิดหากมีความผิดปกติแปลกไปจากวิถีชีวิตเดิมเป็นเวลานานและส่งกระทบต่อหน้าที่การทำงานหรือการใช้ชีวิตในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านควรปรึกษาแพทย์
ฝึก 8 ข้อนี้บ่อยๆ เพื่อเตรียมพร้อม รับมือกับทุกสถานการณ์ที่จะเข้ามาในชีวิต ไม่ว่าเหตุการณ์ต่อไปภายภาคหน้าจะยุ่งยากรุนแรงเลวร้ายแค่ไหน เพียงใดหรือใครๆ จะบอกว่าโลกนี้มันอยู่ยาก..แต่คุณก็จะยังอยู่ได้..เป็นอย่างดี
Leave a reply
Leave a reply